ยิ่งปรับ ยิ่งได้เปรียบ (Flex or Fail)

ยุคดิจิทัลที่มีการเกิดใหม่ของเทคโนโลยีอันก้าวล้ำมากมาย ถือได้ว่าเป็นยุคที่ท้าทายอย่างมากต่อองค์กรธุรกิจทุกประเภท แม้กระทั่งบริษัทยักษ์ใหญ่ที่เป็นองค์กรแห่งนวัตกรรมอย่าง Google เองก็ไม่อาจนิ่งเฉย และได้สร้างองค์กรให้มีความยืดหยุ่น และสามารถปรับตัวไปตามสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนในยุคปัจจุบัน

การเป็นองค์กรที่มี Adaptive Capacity หรือความสามารถในการปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะต้องสร้างกรอบความคิดเชิงรุกที่มุ่งพัฒนาทั้งด้านการดำเนินงาน การวางแผนและการบริหารจัดการบุคลากร วิธีการเดิมๆ ที่คุ้นเคยอาจใช้ไม่ได้อีกต่อไป ดังจะเห็นได้จากสถานการณ์เมื่อปี 2551 ของบริษัท Microsoft ที่สูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดของโทรศัพท์มือถือรุ่น Windows Mobile 6 ให้กับ iPhone และมือถือระบบ Android เนื่องจากไม่สามารถปรับระบบปฏิบัติการของ Window Mobiles 6 ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดได้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการปรับตัวขององค์กรให้ทันต่อสถานการณ์

แนวทางการสร้าง Adaptive Capacity ให้กับองค์กร

การหาไอเดียใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลาเป็นสิ่งสำคัญ แต่การเฟ้นหาไอเดียที่ดีที่สุดและกล้าเสี่ยงลงทุนลงแรงเพื่อนำมาปฏิบัตินั้นสำคัญยิ่งกว่า ยกตัวอย่างเช่น บริษัท Amazon ที่หันมาลงทุนทำธุรกิจค้าปลีกออนไลน์กับสินค้าประเภทอาหารที่เรียกว่า Whole Foods และประสบความสำเร็จอย่างมาก มาจากความกล้าตัดสินใจเพื่อไอเดียใหม่ๆ โดยลงทุนวิจัยและพัฒนาด้านไอทีและผลิตภัณฑ์เพื่อสนับสนุนธุรกิจดังกล่าว เป็นจำนวนเงินถึง 16 ล้านเหรียญดอลลาร์ต่อปี หรือคิดเป็น 12% จากรายได้ทั้งหมด ซึ่งมากกว่าการลงทุนของบริษัทค้าส่งและค้าปลีกอื่นๆ ถึงเกือบ 10 เท่า (ตามข้อมูลของบริษัทวิจัยและที่ปรึกษา Gartner) บริษัท Amazon นั้นเป็นตัวอย่างองค์กรที่สามารถปรับตัวได้อย่างดีเยี่ยม โดยสามารถค้นหาโอกาสใหม่ๆ และกล้าเสี่ยงลงทุนลงแรงไปกับไอเดียใหม่ ซึ่งไม่ใช่ความถนัดเดิมและมีแนวโน้มว่าอาจไม่เกิดผลในระยะเวลาอันสั้น

การมีทีมงานที่สามารถทำงานร่วมกันได้ดีเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้เกิดไอเดียใหม่ๆ องค์กรจำเป็นต้องสร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยให้แต่ละทีมสามารถทำงานสอดประสานกันได้อย่างกลมกลืน รวมถึงกระจายอำนาจให้แต่ละฝ่ายสามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเอง ดังจะเห็นได้จากบริษัท USAA บริษัทไฟแนนซ์ชื่อดังของสหรัฐอเมริกา ที่มอบอำนาจให้พนักงานคอลล์เซ็นเตอร์ สามารถพูดคุยหรือสอบถามนอกสคริปต์ เพื่อทำความเข้าใจความต้องการและแก้ปัญหาให้กับลูกค้าได้ทันที ซึ่งทำให้ระดับความพึงพอใจของลูกค้าและพนักงานสูงขึ้น นอกจากนั้น บริษัทยังเปิดโอกาสให้พนักงานได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างกัน

                ตัวอย่างข้างต้นเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับองค์กรในการสร้างทีมที่สามารถบริหารจัดการตัวเอง และสามารถประสานงานกับฝ่ายต่างๆ ได้อย่างกลมกลืน อันเป็นบรรทัดฐานที่นำไปสู่การเป็นองค์กรที่มีโครงสร้างยืดหยุ่น ซึ่งเปิดโอกาสให้บุคลากรในทุกฝ่ายสามารถร่วมกันสร้างสรรค์นวัตกรรม โดยมีเป้าหมายเดียวกันได้

ในขณะที่ องค์กรแบบเก่าต่างพึ่งพาการตัดสินใจของหัวหน้างานในการบริหารจัดการเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของบุคลากร แต่องค์กรแบบใหม่นั้นหันมาพึ่งพาการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อใช้ในการบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งเป็นแนวทางที่ส่งเสริมให้เกิด Adaptive Capacity ขององค์กร

บริษัทสตาร์ทอัพ VoloMetrix ที่ถูกซื้อกิจการโดยบริษัท Microsoft ในปี 2558 ได้พัฒนาเครื่องมือที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลการปฏิบัติงานของพนักงาน ว่าตอบสนองต่อกลยุทธ์ขององค์กรหรือไม่ ซึ่งเป็นการศึกษาการปฏิสัมพันธ์ระหว่างพนักงานด้วยกันเอง และระหว่างพนักงานกับลูกค้า รวมถึงรูปแบบของการทำงานร่วมกันของพนักงาน นอกจากจะเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อบริหารจัดการแล้วยังสามารถใช้หาคนเก่งในองค์กรได้อีกด้วย ข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์จะแสดงให้เห็นถึงกิจกรรมที่เกิดขึ้นในองค์กร ซึ่งสามารถบอกได้ว่ากิจกรรมที่เกิดขึ้นจากพนักงานทั้งหมดสนับสนุนให้เกิดไอเดียใหม่ๆ ในองค์กรหรือไม่ หรือสิ่งที่ทำอยู่นั้นมีความซ้ำซ้อนและไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กันแน่

การเป็นองค์กรที่มีศักยภาพในการปรับตัว จะต้องคอยแสวงหาไอเดียใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา พร้อมกับอาศัยการตัดสินใจที่เด็ดขาดในการลงทุนลงแรงไปกับไอเดียที่มีโอกาสสร้างการเปลี่ยนแปลง โดยมุ่งเน้นโมเดลธุรกิจที่อาศัยข้อมูลเป็นตัวขับเคลื่อน อีกทั้งจะต้องเปิดโอกาสทางความคิดและการทำงานร่วมกันของฝ่ายต่างๆ ที่สามารถนำไปสู่การเกิดขึ้นของนวัตกรรม และสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การจัดสรรทรัพยากรและตำแหน่งงานให้เหมาะสมกับบุคลากร เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการทำงาน อันนำไปสู่การเป็นองค์กรที่มีศักยภาพต่อไป

สรุปและเรียบเรียงจากบทความ Flex or Fail: Why Adaptive Companies Hold The Advantage in Digital