Self-learning (การเรียนรู้ด้วยตนเอง)

การเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self-learning) สำคัญอย่างไร

ในศตวรรษที่ 21 มีการเปลี่ยนแปลงมากมายและรวดเร็ว ทั้งในแง่ของเศรษฐกิจ สังคม และด้านอื่นๆ และมีแนวโน้มว่าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่อง โดยที่เราไม่อาจจินตฟนาการได้ว่าภาพในอนาคตนั้นจะเป็นอย่างไร การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้นำมาซึ่งสิ่งใหม่ ที่เป็นแรงกระตุ้นหรืออาจถึงขั้นสร้างแรงกดดันให้เราต้องเรียนรู้ พัฒนา เพื่อก้าวให้ทันโลกที่หมุนไปอย่างรวดเร็ว การขาดความรู้และทักษะกลายเป็นสิ่งที่น่ากลัว เนื่องจากจะทำให้เราถูกทิ้งอยู่ข้างหลัง ดังนั้นจึงเป็นสาเหตุให้การแสวงหาความรู้ทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ

มีหลากหลายวิธีด้วยกันที่เราจะพัฒนาการเรียนรู้ แต่การเรียนรู้ใดๆ ก็ไม่สามารถสร้างอิทธิพลได้เท่ากับการเรียนรู้ด้วยตนเองที่มาจากแรูงใจภายใน ซึ่งจะทำให้เราขวนขวายในสิ่งที่เราสนใจ เราทุกคนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้ทั้งสิ้น และสามารถพัฒนาทักษะนี้ได้โดย

สงสัยแล้วดีอย่างไร… งานวิจัยจาก Harvard Business Review พบว่า คนที่ช่างสงสัยใคร่รู้ในงานของตนมีแนวโน้มที่จะมีความคิดสร้างสรรค์ เห็นอกเห็นใจคนอื่นและสื่อสารได้ดีกว่า

หลักสำคัญของความสงสัยใคร่รู้นั้น จะต้องเกิดมาจากแรงจูงใจภายในตัวเราที่มีจุดประสงค์ (Purpose) ของการเรียนรู้อย่างชัดเจน โดยอาจตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราอยากรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งเพราะอะไร ความรู้ที่ได้จะมีประโยชน์กับเราอย่างไร และเราจะนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดและส่งผลให้ชีวิตของเราดีขึ้นได้อย่างไร

การมีจุดประสงค์ในการเรียนรู้ที่ชัดเจนจะทำให้การเรียนรู้มีความหมายและเราจะไม่รู้สึกฝืนในการเรียนรู้แต่อย่างใด

การตั้งเป้าหมาย (Goal) ทำให้เราสามารถวางแผนการเรียนรู้ได้อย่างเป็นระบบ รวมถึงมีสมาธิจดจ่อและสามารถเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเป้าหมายของเราอาจจะแตกต่างกันออกไป ยกตัวอย่างเช่น เป้าหมายในการเรียนรู้เพื่อการทำงาน การเลื่อนตำแหน่งหรือเพื่อสร้างความท้าทายใหม่ๆ ในการทำงาน หรืออาจเป็นเป้าหมายสำหรับการต่อยอดความรู้ที่ได้ค้นคว้ามา ซึ่งสามารถสร้างประโยชน์ทั้งในแง่ของการพัฒนาตนเองและในแง่ของประโยชน์ต่อองค์กรในภาพรวม

ในปัจจุบัน มีหลากหลายช่องทางที่สะดวกและง่ายสำหรับเราในการค้นคว้าข้อมูล อีกทั้งยังมีข้อมูลมากมายจนบางครั้งทำให้เราเกิดความสับสน ดังนั้นเราจึงควรที่จะมีหลักในการค้นคว้าหาความรู้ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์และน่าเชื่อถือ ดังนี้

อย่างแรกคือ ตั้งข้อสงสัยและตรวจสอบความถูกต้องของแหล่งข้อมูลทุกครั้ง โดยเฉพาะข้อมูลที่อยู่ในโลกอินเตอร์เน็ต ควรเป็นข้อมูลที่เปิดโอกาสให้มีการพูดคุย แลกเปลี่ยน และถกเถียงในเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งจะทำให้เราสามารถนำมาพิจารณาความน่าเชื่อถือได้

ต่อมา คือ ค้นคว้าข้อมูลจากฐานข้อมูลทางวิชาการที่มีการทบทวนและตรวจสอบจากนักวิชาการท่านอื่นๆ รวมถึงมีแหล่งอ้างอิงที่ชัดเจนและน่าเชื่อถือ เช่น Google Scholar เป็นต้น

และสุดท้าย คือ ค้นคว้าข้อมูลจากแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ที่เป็นพันธมิตรกับสถานศึกษาชั้นนำ ยกตัวอย่างเช่น Coursera เพื่อที่จะได้เรียนรู้เนื้อหาที่เข้มข้นและมีคุณภาพ อีกทั้งมีความน่าเชื่อถือ

การต่อยอดไอเดีย เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ คือการยกระดับของการเรียนรู้ อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะสร้างสิ่งใหม่ได้นั้น เราจะต้องตกตะกอนทางความคิดเกี่ยวกับเรื่องที่เราค้นคว้าเสียก่อน ซึ่งแนวทางที่จะทำได้นั้น มีหลายวิธีด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่น สร้างวิดีโอนำเสนอเกี่ยวกับเรื่องที่ค้นคว้า ทำแผนผังความคิด (Mind Map) หรือจดบันทึกการเรียนรู้ส่วนตัว เพื่อย้ำเตือนสิ่งที่ได้เรียนรู้มา แนวทางเหล่านี้สามารถนำพาเราไปสู่การสร้างสิ่งใหม่ได้

การเกิดขึ้นของสื่อออนไลน์ อย่างอินเตอร์เน็ต สามารถใช้เป็นแหล่งชุมชนแห่งการเรียนรู้ได้สำหรับทุกคน อีกทั้งยังเป็นช่องทางชั้นดีสำหรับเราในการถ่ายทอด แบ่งปันความรู้ที่ได้ค้นคว้ามากับผู้อื่น ผ่านรูปแบบของการเล่าเรื่องด้วยคำพูดหรือการเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร โดยในกระบวนการถ่ายทอดความรู้ด้วยการพูดนั้น จะพัฒนาสมาธิและความจำของเราในขณะที่เราพยายามถ่ายทอดและเรียบเรียงเรื่องราวต่างๆ และการถ่ายทอดทั้งสองแบบจะส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจในเนื้อหาเหล่านั้นมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้สื่อออนไลน์ยังเป็นแหล่งชุมชนที่เปิดโอกาสให้เกิดการถกเถียงอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งสามารถนำไปสู่การเกิดขึ้นของไอเดียใหม่ๆ ที่มีประโยชน์สำหรับการนำไปต่อยอดและสร้างการเปลี่ยนแปลงได้

การเรียนรู้เป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องตลอดช่วงชีวิต ผู้เรียนควรตั้งเป้าหมายการเรียนรู้ หากเราสามารถบรรลุเป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่งได้สำเร็จ ก็ควรจะตั้งเป้าหมายใหม่ต่อไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด การทำเช่นนี้จะพัฒนาให้กลายเป็นนิสัยแห่งการรักที่จะเรียนรู้ได้ที่สุด ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความผันผวน และไม่แน่นอนที่เรากำลังเผชิญอยู่ในยุคปัจจุบัน

สรุปและเรียบเรียงจากบทความ Self-Learning; Why it’s Essential for You in the 21st Century