Collaborative Leadership (ภาวะผู้นำที่ส่งเสริมความร่วมมือ)

ภาวะผู้นำ หรือ Leadership หมายถึง ความสามารถด้านอิทธิพลต่อบุคคลในกลุ่มเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมาย

ใช้กระบวนการสั่งการ การมีอิทธิพลต่อผู้อื่น การมีปฏิสัมพันธ์ โดยการถ่ายทอดแนวคิดไปสู่การปฏิบัติ ทฤษฎีภาวะผู้นำถูกนำเสนอไว้หลากหลายรูปแบบ ตามแนวคิดของนักทฤษฎีนั้นๆ ตามปัจจัยที่แตกต่างกัน ทั้งที่แบ่งตามสไตล์การนำ หรือแบ่งตามลักษณะการทำงานร่วมกับผู้ตาม

Collaborative Leadership หรือ ผู้นำที่ส่งสริมความร่วมมือ เป็นภาวะผู้นำอีกประเภทหนึ่งที่ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายในบทความที่เกี่ยวข้องกับการสร้างทีม และภาวะผู้นำกับความสามารถในการบริหารองค์กรให้ประสบความสำเร็จ

บทความหัวข้อ Are you a Collaborative Leader? โดย Herminia Ibarra , Morten T. Hansen ให้ความหมายของ Collaborative Leadership ว่า คือ ภาวะผู้นำที่สามารถผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วม โดยปราศจากการใช้อำนาจในการควบคุม เป็นภาวะผู้นำที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ตามทำงานเพื่อจุดมุ่งหมายเดียวกัน ถึงแม้ว่าผู้ตามเหล่านั้นจะมี ความเชื่อ คุณค่าทางวัฒนธรรม หรือลักษณะการปฏิบัติงานที่แตกต่างกัน

ในบทความยังเปรียบเทียบความแตกต่างของภาวะผู้นำ 3 สไตล์ คือ Collaborative Leadership, Command and Control และ Consensus Leadership ไว้อย่างน่าสนใจ

องค์กรที่อยู่ในบริบทที่แตกต่างกันนั้นต้องการการบริหาร และการนำที่แตกต่างกัน

ภาวะผู้นำแบบ Command and Control นั้นเหมาะกับองค์กรขนาดใหญ่ ที่มีสายบังคับบัญชาชัดเจน ผู้บริหารสูงสุดเป็นผู้กำหนดนโยบาย และเป็นผู้ตัดสินใจ ไม่เหมาะกับองค์กรที่ให้ความสำคัญกับความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม

ในขณะที่ภาวะผู้นำแบบ Consensus Leadership นั้นเหมาะกับองค์กร หรือกลุ่มคณะทำงานขนาดเล็ก ที่ทุกส่วน หรือทุกคนมีอำนาจในการตัดสินใจเท่าเทียมกัน อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะเป็นกลุ่มขนาดเล็กแต่การบริหารงานตามระบบเสียงเอกฉันท์นั้นใช้เวลามากกับการหาทางออกที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกัน

ภาวะผู้นำแบบ Collaborative Leadership เหมาะกับองค์กรที่มีการบริหารแบบกระจายอำนาจการควบคุม หรือมีการทำงานข้ามสายงานกัน มีการร่วมมือกันทำงานตลอดเวลาเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรม โดยมีการให้อำนาจการตัดสินใจไปที่เจ้าของโครงการนั้นๆ

Collaborative Leadership เป็นภาวะผู้นำที่ทำให้องค์กรประสบความสำเร็จ หรือไม่?

การนำองค์กรลักษณะเดิม หรือแบบใดแบบหนึ่งตายตัวทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ไม่แตกต่างไปจากเดิม ในขณะที่บริบททางเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงวัฒนธรรมเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา องค์กรในปัจจุบันจำเป็นปรับตัวให้สามารถรับมือกับบริบทที่เปลี่ยนไปเหล่านี้ได้ ผู้คุมบังเหียนหลักขององค์กรต้องมีความสามารถในการควบคุมทรัพยากรจากทุกแหล่ง ทั้งในและนอกองค์กร เพื่อที่จะกำหนดกลยุทธ์ ไม่เพียงเพื่อให้องค์กรอยู่รอดเพียงแต่เพื่อให้องค์กรสามารถแข่งขันได้ และเติบโตต่อไป การเป็นผู้นำที่สามารถนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จได้นั้น ไม่ได้มีกฎเหล็ก หรือสูตรลับตายตัว และไม่ใช่ปฏิบัติการเดี่ยว หรือ One Man Show Project หากแต่เป็นการที่ผู้นำสามารถทำความเข้าใจกับบริบทั้งภายใน และภายนอกองค์กรปัญหาที่กำลังเผชิญ รวมถึงจุดมุ่งหมายที่วางไว้ และใช้ทรัพยากรที่มีอย่างชาญฉลาด

เรียบเรียง สรุป และวิเคราะห์จาก Herminia Ibarra , Morten T. Hansen, (2011). Are you a collaborative leader? HBR’s 10 must read on collaboration, published by Harvard Business Review Press

Posted in บทความ and tagged , , , .